• #
วิธีคำนวณดอกเบี้ย
Interest Rate Calculation

อัตราดอกเบี้ยประเภทต่าง ๆ จะถูกคำนวณเป็นอัตราร้อยละต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยในทางเศรษฐศาสตร์จะสะท้อนมูลค่าของเวลา (Time Value) และสะท้อนมูลค่าของเงิน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย ทำให้การคำนวณอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ สามารถทำได้หลายวิธีเพื่อสะท้อนปัจจัยเหล่านั้น

ตัวอย่างการคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบต่าง ๆ ที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน ได้แก่

  1. อัตราดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest Rate) คือ ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่คิดจาก “เงินต้น” บวกกับดอกเบี้ยที่ได้รับจากงวดก่อนหน้า สมมติเรานำเงิน 10,000 บาท ไปฝากธนาคาร ได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 5% ต่อปี เมื่อครบ 1 ปี เงินของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,500 บาท (เงินต้น 10,000 บาท บวกดอกเบี้ย 500 บาท) เงิน 10,500 บาทนี้ จะกลายเป็นเงินต้นของปีที่ 2 และเมื่อครบ 2 ปี เงินของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 11,025 บาท (เงินต้น 10,500 บาท บวกดอกเบี้ย 525 บาท) และในปีถัด ๆ ไปดอกเบี้ยของปีนั้นจะถูกทบเข้ากับเงินต้น และกลายเป็นเงินต้นของปีถัดไป เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย  ๆ
  2. อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ (Nominal Interest Rate) หักด้วยอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) เช่น ฝากเงิน 10,000 บาทไว้กับธนาคาร โดยได้รับดอกเบี้ย 2% ต่อปี หากอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับ -1% (2% - 3% = -1%) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อจะลดลง เช่น ต้องการซื้อสินค้าราคา 10,000 บาท หากตอนต้นปีฝากเงิน 10,000 บาท ซึ่งได้รับดอกเบี้ย 2% พอถึงสิ้นปีเงินฝากนี้จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 10,200 บาท แต่ราคาสินค้าทั่วไปกลับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็น 10,300 บาท ทำให้เงินออมที่มีไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าชิ้นนี้
  3. อัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้เงินต้องจ่ายจริง (Effective Interest Rate) คำนวณจากจำนวนเงินที่ผู้กู้ได้รับจริง ระยะเวลาการกู้ยืม การจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละงวด โดยจะพิจารณาจากส่วนต่างที่แท้จริงของเงินต้นกับเงินที่ผู้กู้ต้องจ่ายคืน โดยทั่วไป Effective Interest Rate จะสูงกว่า Nominal Interest Rate

    การคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้เงินต้องจ่ายจริง (Effective Interest Rate)

    ตัวอย่างเช่น กู้เงินผ่อนสินค้า 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน โดยจะต้องชำระทั้งสิ้น 24 เดือน

    เงินผ่อนชำระต่อเดือน = (เงินต้น + ดอกเบี้ย) / จำนวนงวด 
     = [30,000 + (30,000 x 2% x 24)] / 24
    = 1,850 บาทต่อเดือน
    หรือคิดเป็นเงินที่จ่ายคืนให้เจ้าหนี้ทั้งสิ้น 44,400 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณเปรียบเทียบกับเงินต้นและระยะเวลาที่กู้ยืมแล้ว
    จะต้องเสียดอกเบี้ย 3.41% ต่อเดือนหรือ 40.88% ต่อปี


    ในกรณีนี้ Nominal Interest Rate คือ 2% ต่อเดือนหรือ 24% ต่อปี และ Effective Interest Rate คือ 3.41% ต่อเดือนหรือ 40.88% ต่อปี เห็นได้ว่า Effective Interest Rate จะสูงกว่า Nominal Interest Rate ถึง 16.88% ต่อปี ซึ่งความแตกต่างนี้จะสูงขึ้นอีก หากระยะเวลาในการกู้ยืมยาวนานขึ้น หรือมีจำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระมากขึ้น ดังนั้นในการกู้เงินผู้กู้จึงควรพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจริงให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ

  4. อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step Up Interest Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารจะจ่ายให้ผู้ฝากเงินเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยทั่วไปจะกำหนดจำนวนเงินฝากขั้นต่ำและไม่อนุญาตให้เบิกถอนก่อนกำหนด ซึ่งการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบนี้จะเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น คือ จะไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับในช่วงแรกมารวมเป็นเงินต้นงวดถัดไปนั่นเอง

    การคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step Up Interest Rate)

    ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 1 มกราคม ฝากเงิน 100,000 บาท ได้รับอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได 12 เดือน โดยธนาคารจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเดือนที่ 1 - 4 ในอัตรา 2% เดือนที่ 5 - 8 ในอัตรา 2.5% เดือนที่ 9 - 11 ในอัตรา 3% และเดือนสุดท้ายในอัตรา 3.5% โดยมีเงื่อนไขว่า หากถอนเงินก่อนกำหนดจะได้รับดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ออมทรัพย์ ในกรณีนี้ ดอกเบี้ยที่ได้รับจะคำนวณดังนี้

    calculate72


    ดังนั้น จะได้รับดอกเบี้ยทั้งสิ้น 2,545.21 บาท (657.53 + 842.47 + 747.95 + 297.26)
    หรือได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจ่ายจริง (Effective Interest Rate) คือ 2.54% นั่นเอง

ที่มา : หนังสือ 365+1 คำศัพท์การเงินและการลงทุน


หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง